ผู้เข้าชมทั้งหมด: 899
การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
ดาวน์โหลดเอกสารรายงานฉบับเต็ม:
วิสาหกิจชุมชนเป็นกิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้ และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนจัดอยู่ในวิสาหกิจรายย่อย ในปี 2565 ประเทศไทยมีวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises) 2,727,186 ราย มีสัดส่วนร้อยละ 85.17 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศ และมีมูลค่า GDP 449,046 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของ GDP รวมทั้งประเทศ และมีการจ้างงาน 5,446,192 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.25 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยตระหนักถึงความสำคัญของวิสาหกิจชุมชนว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถผลักดันไปสู่วิสาหกิจที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเป็นกิจการที่ชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการ ประเทศไทยมีวิสาหกิจชุมชนเป็นจำนวนมากกว่า 80,000 ราย กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ สนค. จึงได้จัดทำรายงานการศึกษา การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยศึกษาวิเคราะห์ ความสำคัญ สถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรค นโยบายที่เกี่ยวข้องพร้อมข้อเสนอแนะในการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ต่อยอดการดำเนินการและพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนของไทย ซึ่งสามารถเป็นเครื่องมือและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างทั่วถึงต่อไป