สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจของไทย และผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจ
แชร์:

ผู้เข้าชมทั้งหมด: 160

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจของไทย และผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจ

ดาวน์โหลดไฟล์ : 

          ประเด็นหนี้สินของประเทศไทยกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนภายในประเทศเป็นวงกว้าง ถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพและความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยหรือไม่หากพิจารณาจากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเป็นมูลค่ากว่า 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.9 ต่อ GDP หนี้ภาคธุรกิจ 12.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87.4 ต่อ GDP และ หนี้สาธารณะ 11.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.5 ต่อ GDP

          หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging market economies เช่นเดียวกับไทย จากข้อมูลธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement: BIS) ปรากฏว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market economies) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 47.6 ต่อ GDP (ข้อมูลไตรมาสที่ 3/66) โดยประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย จีน และมาเลเซีย มีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 16.3 37.2 62.4 และ 68.5 ตามลำดับ

          สำหรับการศึกษาระดับหนี้ที่ยังไม่ลดทอนความมีเสถียภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้มีงานศึกษาของทั้งองค์การระหว่างประเทศ และงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิชาการของต่างประเทศ จำนวนมาก และได้ทำศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงขอนำตัวอย่างบางผลการศึกษามาให้ข้อมูล เช่น Cecchetti, S.G., Mohanty, M.S., Zampollio, F. (2011) ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับระดับหนี้ประเภทต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลระดับหนี้ในช่วงปี 2523 - 2549 ของประเทศในกลุ่ม OECD จำนวน 18 ประเทศ พบว่า หากประเทศมีระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 85 ต่อ GDP และหนี้ภาคธุรกิจที่สูงกว่าร้อยละ 90 ต่อ GDP มักส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจากผลการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับหนี้ต่อ GDP กับอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัว ปรากฏว่า หากระดับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP เพิ่มขึ้น 1 percentage point (เช่น 70% ต่อ GDP เป็น 71% ต่อ GDP) จะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศเติบโตลดลงร้อยละ 0.02 กล่าวคือ การเติบโตของรายได้ต่อหัวชะลอตัวลง ขณะที่หากระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น 1 percentage point จะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศเติบโตลดลงร้อยละ 0.025 ใกล้เคียงกับงานศึกษาของ Lombardi et al. (2017) นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement: BIS) พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนสูงสุดที่ประเมินว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 80 ต่อ GDP ที่ยังคงรักษาเสถียภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้ดังนั้น กรณีที่ประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก (ร้อยละ 90.9 ต่อ GDP) จึงทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศเตือนให้ทางการเฝ้าระวังระดับหนี้ครัวเรือนของไทยว่า อาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป