การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
แชร์:

ผู้เข้าชมทั้งหมด: 392

การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดาวน์โหลดไฟล์ : 

          การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ความต้องใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและ การบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทรัพยากรบางอย่างเริ่มขาดแคลน และเกิดปัญหาสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเกิดการพัฒนาแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่ระบบเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายหลังการบริโภคในรูปแบบวงกลม โดยมีการวางแผนและมีกระบวนการนำทรัพยากร วัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากการผลิตหรือการบริโภคทั้งหมด กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อให้เกิดของเสีย และใช้ ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด ฐานข้อมูล Statista ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569 เป็นประมาณ 7.13 แสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ Accenture คาดการณ์ว่า ในปี 2573 เศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกจะมีมูลค่ามากถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4 – 5 ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) โลก

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจ หมุนเวียน ในการสร้างรายได้และการจ้างงานให้กับประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ 8 ประเภท ได้แก่ (1) Circular Supplies คือ รูปแบบธุรกิจที่จัดหาปัจจัยการผลิต/ วัตถุดิบที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ให้กับอุตสาหกรรมอื่น (2) Resource Recovery คือ รูปแบบธุรกิจที่รีไซเคิล ขยะ หรือของเหลือจากการผลิต เพื่อลดการรั่วไหลของวัสดุ และเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด (3) Product as a Service (PaaS) คือ รูปแบบธุรกิจที่ให้บริการแทนการขายสินค้า ทำให้ผลิตภัณฑ์ถูกใช้ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด (4) Product Life Extension คือ รูปแบบธุรกิจที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของ ผลิตภัณฑ์ โดยการซ่อมแซม การตกแต่งใหม่ และการผลิตใหม่ (5) Sharing Platforms หรือ Collaborative Consumption คือ รูปแบบธุรกิจที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแบ่งกันการใช้งานผลิตภัณฑ์กับผู้อื่น (6) Facilitation Service คือ รูปแบบธุรกิจที่อำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถติดต่อหรือ เชื่อมต่อกันผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล (7) Inclusive Business คือ รูปแบบธุรกิจที่ให้กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำ หรือคนในชุมชนมีส่วนร่วมในธุรกิจ และ (8) Performance-based Service คือ รูปแบบธุรกิจบริการให้เช่า หรือใช้งานสินค้า ที่ต่อยอดจากรูปแบบธุรกิจ PaaS โดยผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าหรือบริการตามการใช้งานจริง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร

          องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและบทบาทของภาครัฐ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริม (promoting) การอำนวยความสะดวก (facilitating) และการสนับสนุน (enabling) จากการศึกษาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาครัฐใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และไทย พบว่า มีความสอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเสนอแนะของ OECD แตกต่างกันไป