แนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน
แชร์:

ผู้เข้าชมทั้งหมด: 424

แนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ดาวน์โหลดเอกสารรายงานฉบับเต็ม

          ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์ม ได้รับความนิยมในการบริโภคจากทั่วโลก และเป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ๆ เนื่องจากผลผลิตน้ำมันต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชที่ให้น้ำมันชนิดอื่น 6 – 10 เท่า นิยมใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          ภาพรวมการผลิตโลก ปาล์มน้ำมันมีแหล่งเพาะปลูกกระจายทั่วไปตามทวีปเอเชีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาบางประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้ออำนวย โดยประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก คือ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 60.49) และมาเลเซีย (ร้อยละ 21.79) สำหรับไทย มีปริมาณผลผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.49 และเมื่อพิจารณาผลผลิตต่อไร่ 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 – 2564) พบว่า มาเลเซียมีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงสุด แต่ในปี 2565 ไทยมีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงสุด

          ภาพรวมการผลิตไทย ปี 2557- 2566 พบว่าไทยมีเนื้อที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเกษตรกรมีการปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา และปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นา และพื้นที่รกร้าง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีเพียงแต่ปี 2559 ที่ผลผลิตลดลง เนื่องจากภาคใต้ของไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับปี 2566 ที่ผลผลิตลดลงร้อยละ 1.72 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้สภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปาล์มขาดน้ำ เสียหาย และผลปาล์มมีน้ำหนักต่อทะลายลดลง เมื่อพิจารณาในรายภูมิภาค พบว่า เนื้อที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยมากกว่าร้อยละ 85 อยู่ที่ภาคใต้ รองลงมาเป็นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ จังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง ตามลำดับ

          การบริโภค ความต้องการน้ำมันปาล์มของโลก ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 ต่อปี ในขณะที่ ความต้องการใช้ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.36 (เพิ่มจาก 69.52 เป็น 74.64 ล้านตัน) เนื่องจาก อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันปาล์มมากที่สุด มีมาตรการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซล จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 ในขณะที่ การบริโภค ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศ ในปี 2562 - 2566 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการบริโภคภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2566 ไทยมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อการบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.95 และมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อเป็นพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.93 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจาก การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจบริการทั้งร้านอาหารและโรงแรม รวมทั้งธุรกิจด้านคมนาคมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและเพื่อพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น