รายงานการศึกษาผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ไทยต่อยอดสู่ศูนย์กลางการผลิตของโลก
แชร์:

ผู้เข้าชมทั้งหมด: 88

รายงานการศึกษาผลักดันอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ไทยต่อยอดสู่ศูนย์กลางการผลิตของโลก

ดาวน์โหลดเอกสาร: 

                   แผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คือ แผ่นวัสดุที่ใช้ในการรองรับและเชื่อมต่อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์
โดยแผงวงจรพิมพ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ แผงวงจรพิมพ์แบบด้านเดียว (Single-Sided PCB) แบบสองด้าน (Double-Sided PCB) แบบหลายชั้น
(Multilayer PCB) แบบยืดหยุ่น (Flexible PCB หรือ Flex PCB) และแบบแข็ง-ยืดหยุ่น (Rigid-Flex PCB)

                  ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ของไทย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) คือ กระบวนการจัดหา
วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการผลิตแผงวงจรพิมพ์ โดยมีวัตถุดิบหลัก ได้แก่ วัสดุฐาน (Base Material) และแผ่นทองแดง (Copper Clad Laminate)
อุตสาหกรรมกลางน้ำ (Midstream) คือ กระบวนการผลิตแผงวงจรพิมพ์ และการประกอบตามความต้องการของผู้ผลิตสินค้า (Printed Circuit Board Assembly: PCBA)
อุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream) คือ กระบวนการที่ผู้ประกอบการ นำแผงวงจรพิมพ์ที่ผลิตแล้วไปใช้ในการประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finished Product)

                   สถานการณ์การค้าแผงวงจรพิมพ์ของโลกในช่วงปี 2014-2023 มูลค่าการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.29 ต่อปี และในปี 2023 มีมูลค่าการค้า
106,020.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าโลก ปี 2023 มีมูลค่า 54,928.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.82 (YoY) ประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก
ได้แก่ (1) จีน มูลค่า 8,062.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 14.68) (2) ฮ่องกง มูลค่า 7,264.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 13.22) และ (3) เวียดนาม
มูลค่า 6,722.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 12.24) โดยไทยอยู่อันดับที่ 10 มีมูลค่าการนำเข้าแผงวงจรพิมพ์ 1,983.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 3.61)
สำหรับการส่งออกโลกปี 2023 มีมูลค่า 51,091.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.30 (YoY) ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน มูลค่า
17,551.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 34.35) (2) ฮ่องกง มูลค่า 8,793.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 17.21) และ (3) ไต้หวัน มูลค่า 4,986.83
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 9.76) โดยไทยอยู่อันดับที่ 7 มีมูลค่าการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ 1,304.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 2.55) ประเทศในอาเซียน
ที่มีมูลค่าการส่งออกแผงวงจรพิมพ์มากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่ผ่านมาไทยเคยเป็นผู้นำในอาเซียน แต่ในช่วงปี 2022-2023 การส่งออกชะลอตัว
ลงมาเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย เป็นผลมาจากปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม หลังปี 2023 อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์
ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการลงทุน

                  สำหรับสถานการณ์การค้าแผงวงจรพิมพ์ของไทยในช่วงปี 2014-2023 มูลค่าการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.76 ต่อปี และในปี 2023 มีมูลค่าการค้า
3,288.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยมีการส่งออกมากกว่าการนำเข้าตั้งแต่ปี 2015-2018 ก่อนที่จะกลับเป็นการนำเข้ามากกว่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2019-2023 การนำเข้าไทย
ปี 2023 มีมูลค่า 1,983.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.93 (YoY) ประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน มูลค่า 1,002.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(สัดส่วนร้อยละ 50.51) (2) เกาหลีใต้ มูลค่า 253.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 12.77) และ (3) ไต้หวัน มูลค่า 184.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 9.30)
สำหรับการส่งออกไทย ปี 2023 มีมูลค่า 1,304.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.88 (YoY) ประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน มูลค่า
205.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 15.74) (2) สหรัฐอเมริกา มูลค่า 176.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 13.55) และ (3) ญี่ปุ่น มูลค่า 159.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(สัดส่วนร้อยละ 12.24)