นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มของสินค้าเพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Beauty & Personal Care) อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก หัวน้ำหอม และน้ำหอม พบว่า เป็นสินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2565 ตลาดค้าปลีกเครื่องสำอาง (Colour Cosmetics) ภายในประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่า 811.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (25,953.6 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 12.1 จากปีก่อนหน้า และปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 895.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (28,651.2 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากปีก่อนหน้า (ที่มา: Euromonitor International)
สำหรับตลาดต่างประเทศ สถิติการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ในปี 2565 พบว่า ไทยมีการส่งออกมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,254.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (112,860.5 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกสำคัญ คือ (1) ญี่ปุ่น (สัดส่วนมูลค่าส่งออก ร้อยละ 11) (2) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 8.8) (3) เวียดนาม (ร้อยละ 7.1) (4) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 7.1) และ (5) จีน (ร้อยละ 7.0) ทั้งนี้ สามารถแบ่งสินค้าได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) เครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ มีมูลค่าการส่งออก 2,384.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (82,736.9 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า เป็นสัดส่วนร้อยละ 73.3 ของมูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ทั้งหมดของไทย และ (2) วัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง มีมูลค่าการส่งออก 870.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (30,123.7 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากปีก่อนหน้า เป็นสัดส่วนร้อยละ 26.7
หากพิจารณารายละเอียดสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง เครื่องหอม และสบู่ สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม (อาทิ ยาสระผม น้ำยาดัดยืด และผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม) มีมูลค่าการส่งออก 716.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (24,787.0 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 1.9 จากปีที่ผ่านมา และ (2) สิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งหน้าหรือบำรุงผิว (อาทิ เครื่องสำอาง ครีมและโลชั่นบำรุงผิว) มีมูลค่าการส่งออก 680.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (23,651.5 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.7 (3) สบู่ มีมูลค่าการส่งออก 357.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,403.6 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.6 (4) สิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน มีมูลค่าการส่งออก 329.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (11,423.0 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 2.6 และ (5) สิ่งปรุงแต่งใช้โกนหนวด อาบน้ำ ดับกลิ่นตัว มีมูลค่าการส่งออก 238.69 ล้านเหรียญสหรัฐ (8,274.2 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.2
จากรายงาน “2023 Global Beauty & Personal Care Trends” ของบริษัท Mintel (2022) ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าเพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ดังนี้ (1) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อความงาม ซึ่งผู้บริโภคต้องการการพิสูจน์ยืนยันการกล่าวอ้างสรรพคุณ ส่วนผสมมีความสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคต้องการผลลัพธ์ที่มองเห็นได้ มองหาผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงและมีนวัตกรรม โรคระบาดทำให้เกิดความต้องการดูแลความงามด้วยตนเองที่บ้าน แต่ก็ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลลัพธ์อย่างมืออาชีพ ดังนั้น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งปัจจุบันผู้บริโภคได้รับข้อมูลความรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนแก่ผู้บริโภค (2) การดูแลตนเองแบบองค์รวม เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความเครียด ผู้บริโภคหาหนทางในการจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ ซึ่งความงามสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ดัชนีลิปสติก “Lipstick Index” พบว่ามียอดขายลิปสติกเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมองหาวิธีง่ายๆ ที่ราคาไม่แพง ในการเยียวยาและจัดการปัญหาความเครียด ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าเพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ต้องให้ความสำคัญกับคุณประโยชน์และประสิทธิภาพสินค้า ให้ความสนใจด้านจิตใจและอารมณ์ของผู้บริโภค มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้ ผู้บริโภคต้องการแสวงหาความงามเฉพาะบุคคล (Personal Beauty) จึงต้องออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ตามความต้องการ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมและสื่อสารกับแบรนด์ และ (3) การมีส่วนร่วมแบบใหม่ ๆ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ในช่องทางออนไลน์ ผู้ผลิตต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกตื่นเต้น เช่น การจำลองการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีที่สร้างความเสมือนจริง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) สร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดสินค้าเพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายเป็นตลาดที่น่าสนใจและยังมีช่องว่างที่จะเติบโตอีกมาก ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิต และมีโรงงานที่รับจ้างผลิตให้แบรนด์ดังระดับสากล (OEM) นอกจากนี้ ไทยยังมีจุดเด่นด้านการมีวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งสามารถสกัดเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ประกอบไทยต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการพัฒนาแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และการใช้เทคโนโลยีสำหรับสื่อสารทางการตลาดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค