ผลการศึกษาผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีต่อกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
สินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน จากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกลุ่มสินค้าไอทีและทรัพย์สินทางปัญญาที่นำเข้าจากจีน ในอัตราร้อยละ 25 อ้างเหตุผลว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการนี้ สนค. ได้ศึกษาผลกระทบของมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าว ที่มีต่อกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยสินค้าในกลุ่มนี้ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีน ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เครื่องโทรสาร (พิกัดศุลกากร 8443) เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและหน่วยต่างๆ ของเครื่อง เช่น หน่วยรับเข้า หน่วยส่งออก และหน่วยเก็บ (พิกัดศุลกากร 8471) และส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องต่างๆ เช่น ส่วนประกอบของเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (พิกัดศุลกากร 8473)
จากการวิเคราะห์ของ สนค. พบว่าสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (พิกัดศุลกากร 8471) ในปี 2017 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้า 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน (สัดส่วนร้อยละ 60) (2) เม็กซิโก (สัดส่วนร้อยละ 24) (3) ไทย (สัดส่วนร้อยละ 5) ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ ไทยมีศักยภาพสูงในการส่งออกหน่วยเก็บข้อมูล (พิกัดศุลกากร 847170) ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้าหน่วยเก็บข้อมูลเป็นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทยมากที่สุด เป็นมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 41) รองลงมา คือ จีน เป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 22) ในขณะที่ไทยส่งออกหน่วยเก็บข้อมูลไปโลก เป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้น ไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว ผู้ส่งออกไทยจึงน่าจะมีช่องทางและโอกาสสูงในการขยายตลาดในสหรัฐฯ
สำหรับสินค้าประเภทส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องจักร (พิกัดศุลกากร 8473) ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากจีนมากที่สุด เป็นมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 67) และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 7 เป็นมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 1) สินค้าในกลุ่มนี้ที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก คือ ส่วนประกอบของเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (พิกัดศุลกากร 847330) และสหรัฐฯ เองก็นำเข้าสูงเช่นกัน โดยปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้าเป็นมูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปโลกประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่งไปสหรัฐฯ ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จึงยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เครื่องโทรสาร (พิกัดศุลกากร 8443) ซึ่งในปี 2017 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เป็นมูลค่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) จีน (สัดส่วนร้อยละ 37) (2) ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 19) (3) มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 10) (4) ไทย (สัดส่วนร้อยละ 10) และ (5) เวียดนาม (ร้อยละ 6) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน และไทย เป็นมูลค่า 6,200 และ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยส่งออกโลกประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้น ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ไปสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีน
สำหรับสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังอาจมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าจำพวกเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนอยู่แล้ว ในปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าจากจีน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลจีน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของจีน จีนส่งมาไทยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของจีน (จีนส่งออกทั้งโลกเป็นมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนั้น เพื่อปรับตัวรับมือกับสงครามการค้า สนค. คาดว่าจีนน่าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ ในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อินเดีย และเม็กซิโก เป็นต้น