ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562
(วานนี้ 21 มีนาคม 2562) นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร (ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า) แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า " การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 21,554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำและอาวุธ การส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 4.9 แม้ว่าความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงกดดันให้การค้าโลกชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าอ่อนแอ อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) รวมถึงไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวในระยะเดียวกัน สะท้อนว่าพื้นฐานการส่งออกไทยมั่นคง แต่ก็ยืดหยุ่นและสามารถรับมือความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้ ดังจะเห็นจากการสามารถรับมือกับผลกระทบของสงครามการค้าได้ค่อนข้างดี ด้วยการกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ หรือสามารถเจาะตลาดเดิมได้ทดแทนคู่แข่งขัน "
ปัจจัยเชิงบวกที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือน กพ. เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น บรรยากาศสงครามการค้าเริ่มลดความตึงเครียดลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง มาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยที่ทำให้ไทยหลุดจากใบเหลือง IUU และ TIP ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสินค้าดาวรุ่ง เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ที่ช่วยผลักดันการส่งออกในเอเชีย สำหรับการส่งออกไปจีนเริ่มชะลอตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน และการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย รวม 2 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.16
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2562
การส่งออก มีมูลค่า 678,509 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 558,778 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.4
ส่งผลให้การค้าเกินดุล 119,731 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2562
การส่งออกมีมูลค่า 21,554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 10.0
ส่งผลให้การค้าเกินดุล 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ