แถลงข่าวสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2562) นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข่าวสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562 ระบุว่า "
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2562 เดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 1.15 ปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นคือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.35 โดยเฉพาะผักและผลไม้ ข้าวสารและเนื้อสุกร ส่วนปัจจัยลบที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวคือ สินค้ากลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี โดยลดลงร้อยละ 3.86 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวร้อยละ 0.48 (YoY) เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (เฉลี่ย 6 เดือน แรกของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.97) โดยมีสินค้ากลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ
การสูงขึ้นของเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในเดือนนี้ สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.8 ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 48.1 จากระดับ 51.2 ในเดือนก่อนหน้า ลดต่ำกว่าเกณฑ์ช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนแรกของปี 2562 นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ชะลอตัว ดังกล่าว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ชะลอตัวลง อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมถึงมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ (ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้) รายได้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ย มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและจะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีเสถียรภาพ"...