ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2563
วันนี้ (24 มิถุนายน 2563) นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ความว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ อุปสรรคด้านการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ดังเช่นการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 15.3 ซึ่งการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 โดยเห็นได้จากกระจายตัวทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรม
ในรายสินค้า สินค้าไทยยังตอบโจทย์ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารในช่วงล็อกดาวน์ของโลกได้ดี ในเดือนพฤษภาคม 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักและผลไม้ หลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 22.7 จากร้อยละ 17.1 ในปีที่ผ่านมา สะท้อนโอกาสในการกระจายรายได้ลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเวลาท้าทาย
ทั้งนี้ ประเมินว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่
1) ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
2) ความชะงักงันของการผลิต จากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการในหลายประเทศ
3) ระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่ยังไม่คล่องตัว และ
4) ผลกระทบด้านรายได้ของประเทศคู่ค้า (Income Effect) ซึ่งขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ โดยในระยะนี้ ภาครัฐควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดทอนผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ในภาคการค้าและการส่งออก รัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ยังมีศักยภาพและขยายตัวได้ดี โดยมี 5 แนวทาง คือ
1) สนับสนุนบริษัทส่งออกให้เข้าถึงนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อประคองธุรกิจในภาวะที่การส่งออกยังไม่แน่นอนสูง
2) ส่งเสริมการตลาดสินค้าที่มีความต้องการสูงในระยะนี้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร และสินค้า new normal ต่าง ๆ ที่ใช้ทำงานที่บ้าน
3) ตั้งเป้าหมายและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดศักยภาพและฟื้นตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
4) แก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้นในระยะนี้ และ
5) บริหารความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
6) สร้างความเข้มแข็งให้กับ supply chain การลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมใหม่ ที่เริ่มย้ายทุนเข้ามาในไทย ผ่านนโยบายการสนับสนุนของ BOI และ EEC และเร่งปรับระบบ eco-system ที่เกี่ยวข้องรองรับ เช่น เรื่องของแรงงาน ทักษะคน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2563
การส่งออก มีมูลค่า 16,278.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 22.50 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 13,583.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 34.41
การค้าเกินดุล 2,694.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563
การส่งออก มีมูลค่า 97,898.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.71 ขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 88,808.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.64
ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 9,090.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนพฤษภาคม 2563
การส่งออก มีมูลค่า 524,584.12 ล้านบาท หดตัว ร้อยละ 20.91 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 443,478.95 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 33.08
การค้าเกินดุล 81,105.17 ล้านบาท
ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563
การส่งออก มีมูลค่า 3,041,719.90 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.18 ขณะที่
การนำเข้า มีมูลค่า 2,793,188.70 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.22
ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 248,531.2 ล้านบาท