บทวิเคราะห์การส่งออกทุเรียนไทย
รายงานวิเคราะห์การส่งออกทุเรียนไทย สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังต่อไปนี้
1. การส่งออกทุเรียนไทยใน 6 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศคู่ค้าสำคัญจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการส่งออกใน 6 เดือนแรก มีมูลค่า 1,411.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 72.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างจีนมีมูลค่าการส่งออก 1,022.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 140.3
2. จากการวิเคราะห์การส่งออกนับจากปี 2552 พบว่า การส่งออกไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ ราคา และมูลค่า และในปี 2562 การส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 1222.3 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงเป็นอย่างมาก จึงเป็นสินค้าสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง
3. การส่งออกทุเรียนสามารถก้าวข้ามจุดอ่อนการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญต่าง ๆ ได้ โดยลักษณะที่สำคัญของสินค้าเกษตร “เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้น และนำมาสู่การปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ที่ทำให้ราคาลดลง” ในลักษณะกราฟใยแมงมุม หรือ Cobweb Theory
อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียน มีความแตกต่างจากผลไม้ประเภทอื่นๆ คือ เมื่อราคาส่งออกสูงขึ้น แม้จะทำให้ปริมาณการผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่การปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ในลักษณะราคาและปริมาณการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (new high) สะท้อนถึงความต้องการซื้อจากต่างประเทศสามารถดูดซับอุปทานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง หรือ เกิดในลักษณะ “Demand Driven”
ซึ่งหากไทยยังสามารถขยายตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการซื้อให้มากขึ้น และเพียงพอที่จะรองรับปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดว่าราคาและปริมาณการส่งออกของไทยจะยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น
4. จุดแข็งการส่งออก/การนำเข้าทุเรียนโลก
ด้านราคา: ทุเรียนจัดเป็นสินค้าพรีเมียม ราคาที่สูงขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก demand driven จากประเทศจีน
ด้านลักษณะตลาดของผู้นำเข้า: ตลาดผู้นำเข้าทุเรียนสำคัญของโลก อย่างประเทศจีน มีลักษณะเป็นการผูกขาดเกือบสมบูรณ์ มีการแข่งขันน้อย และที่สำคัญไทยเป็นผู้มีส่วนแบ่งการตลาดสูง “หรือไทยทำให้มีการผูกขาดเกิดขึ้น” ทำให้มีโอกาสน้อยที่คู่แข่งทางการค้าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากไทย
ด้านผู้ผลิต: Big player ในตลาดส่งออกทุเรียนมีเพียงประเทศไทย และยังไม่มีผู้ส่งออกประเทศอื่นๆ ที่จัดได้ว่าเป็นผู้ส่งออกดาวรุ่ง “หรือยังขาดแคลน ผู้ส่งออกดาวรุ่งในตลาดทุเรียน” ทำให้ไทยอาจจะยังไม่ต้องกังวลต่อการแข่งขันการส่งออกทุเรียนจากประเทศต่างๆ
5. จุดอ่อนการส่งออกทุเรียน
การนำเข้าทุเรียนของโลกมีการกระจุกตัวที่สำคัญในตลาดจีนเท่านั้น ขณะที่การนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย
6. ข้อเสนอแนะการส่งออกทุเรียนไทย
- รักษามาตรฐานการส่งออกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าไทย และสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายผู้ส่งออก/ผู้กระจายสินค้าในจีน เพื่อป้องกันการแข่งขันจากประเทศอื่นๆ
- ขยายตลาดการส่งออกไปยังมณฑลต่างๆ ของจีน รวมถึงตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้น และเป็นการกระจายตลาดการส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนสูง
- เพิ่มจุดแข็งด้านการผลิตทุเรียนนอกฤดู เพื่อตอบโจทย์ในช่วงที่ประเทศคู่ค้าอย่างจีนมีการจับจ่ายสูง โดยเฉพาะให้มีผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ของจีน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง
- เพิ่มทางเลือกการขนส่งสินค้า ที่ปัจจุบันมีการกระจุกตัวในการส่งผ่านทางด่านเวียดนามและจีนตอนใต้ ซึ่งหากผลผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้การส่งออกมีความแออัดและมีระยะเวลานานขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อคุณภาพสินค้าได้
ขอบคุณบทความจาก : กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กลุ่มดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า