ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
วันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนกรกฎาคม 2566 และ 7 เดือนแรกของปี 2566 พร้อมด้วยนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 มีมูลค่า 22,143.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (764,444 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.0 ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องชะลอลงอย่างมาก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาค และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว อีกทั้ง จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฟื้นตัวช้าลงจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากการขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อย่างไรก็ดีจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาหารของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และสุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีสัญญาณที่ดีจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางรถยนต์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.3
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2566
การส่งออก มีมูลค่า 22,143.2 ล้านเหรียญสหรัฐหดตัวร้อยละ 6.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
การนำเข้า มีมูลค่า 24,121.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.1
ดุลการค้า ขาดดุล 1,977.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2566
การส่งออก มีมูลค่า 163,313.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.7
ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 8,285.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2566
การส่งออก มีมูลค่า 764,444 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
การนำเข้า มีมูลค่า 842,843 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 12.5
ดุลการค้า ขาดดุล 78,399 ล้านบาท
ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2566
การส่งออก มีมูลค่า 5,554,796 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การนำเข้า มีมูลค่า 5,910,357 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.1
ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 355,561 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 9.6 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 7.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 11.8 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 5.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแคนาดา) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 18.8 กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ มาเลเซีย และแคเมอรูน) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 17.8 กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และออสเตรเลีย) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 27.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง) ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 92.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเก๊า)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 37.8 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดอิตาลี และกัมพูชา) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.9 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย อิสราเอล จีน ชิลี และสหราชอาณาจักร) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 30.3 หดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ลาว จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 11.4 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเบลเยียม) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 62.8 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และไต้หวัน) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.7
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.4 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 24.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย และเม็กซิโก) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 40.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก ญี่ปุ่น และไต้หวัน) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 82.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 29.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก อิตาลี และฮ่องกง) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 10.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เบลเยียม สหรัฐฯ บราซิล และเนเธอร์แลนด์) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ขยายตัวร้อยละ 15.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 28.8 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในญี่ปุ่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ โอมาน และบราซิล) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 24.2 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเช็ก และฝรั่งเศส) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 6.2 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ บราซิล และแอฟริกาใต้) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม หดตัวร้อยละ 24.0 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
ภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังมีความไม่แน่นอน โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรปจะหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดรองส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 9.6 โดยกลับมาหดตัวในตลาดจีนและญี่ปุ่น ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ หดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.3 ร้อยละ 26.5 และร้อยละ 6.6 ตามลำดับ ขณะที่ตลาด สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยขยายตัวเกือบทุกตลาด ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 2.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 8.2 แอฟริกา ร้อยละ 3.1 ลาตินอเมริกา 14.8 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 39.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.8 ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.6 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 66.8 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 64.9
ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0
ตลาดจีน กลับมาหดตัวร้อยละ 3.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง
ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.7
ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ 1.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.3
ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 18.3 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อากาศยานและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 9.1
ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 26.5 (หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง น้ำตาลทราย และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566
หดตัวร้อยละ 15.2
ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 5.6 (หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 14.1
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 2.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 2.4
ตลาดตะวันออกกลาง กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.4
ตลาดแอฟริกา กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.1
ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ร้อยละ 14.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.5
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 39.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และรองเท้าและชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 41.3
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 5.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 10.4
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) กิจกรรมการนำคณะผู้แทนการค้าเยือนภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีผู้แทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง และอาหารแปรรูป เดินทางไปเยือนประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และบราซิล เพื่อขยายตลาดส่งออกตามกลยุทธ์ในการบุกเจาะตลาดเป็นรายภูมิภาค และรายคลัสเตอร์ (2) การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีการตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ของเอลนิโญ และประเมินผลกระทบทั่วโลกที่จะกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะกรณีที่อินเดียประกาศมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาว เพื่อประเมินสถานการณ์และสร้างความมั่นใจว่า อาหารไทยเพียงพอบริโภคในประเทศและเหลือเพียงพอสำหรับการส่งออก (3) คณะผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์เดือนทางเยือนลาว โดยได้เข้าพบผู้บริหารโครงการท่าบก ท่านาแล้ง หารือการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟ พร้อมทั้งผลักดันการใช้สิทธิ FTA เพื่อการส่งออก รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนไทยถึงโอกาสการขยายการค้า โดยเฉพาะผลไม้ไทยและธุรกิจกาแฟที่ลาว ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การผลิตและการบริโภคชะลอลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และความผันผวนของค่าเงิน แต่คาดว่าฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี ภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และอานิสงส์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวจากไทยทดแทนตลาดจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายประเทศเพิ่มการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเส้นทางใหม่ผ่าน รถไฟไทย-ลาว-จีน จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้อีกทางหนึ่งด้วย
--------------------------------------------
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
25 สิงหาคม 2566