ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564
การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณกาiเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 มีปัจจัยสำคัญจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในสหรัฐฯ และส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลับมาแตะเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 2.59 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 2.87 สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.16
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่
1 - สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
2 - สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
3 - สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก โดยหลายสินค้าเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตส่วนใหญ่ของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียน (5) ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป (15) เอเชียใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.99 ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 1.16 การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.77 ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 601,507.35 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.87 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 610,035.50 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.39 ดุลการค้าขาดดุล 8,528.15 ล้านบาท ส่งผลให้ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,188,881.30 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.04 การนำเข้า มีมูลค่า 1,211,933.26 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 5.85 ขาดดุล 23,051.96 ล้านบาท
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น (2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 4 (2) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ร้อยละ 6.64) สินค้านิวนอร์มอล (ร้อยละ 6.81) อุตสาหกรรมหนัก (ร้อยละ 3.76) แฟชั่น (ร้อยละ 2.36) เป็นต้น (3) จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าว ได้ที่ click