สนค. ปรับแผนงานสู้โควิด จับมือพันธมิตรเดินหน้าบล็อกเชน
สนค. ให้ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า โดยได้พัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การจำหน่าย รวมถึงข้อมูลการรับรองมาตรฐาน ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดหรือตรวจสอบจากเลขที่ระบุลอตการผลิตบนฉลากสินค้า เพื่อสร้างความโปร่งใสและน่าเชื่อถือต่อสินค้าไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (ผอ. สนค.) ได้เปิดเผยว่า การดำเนินงานเรื่อง Blockchain นี้สอดคล้องกับนโยบายที่สำคัญ 1 ใน 14 แผนงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการค้า เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวรองรับระบบเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ และในรูปแบบ New Normal ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น นอกจากนี้จะยังเสริมสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรอีกด้วย
โดยการนำระบบ Blockchain มาใช้จะช่วยสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือต่อสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทย ต่างชาติ รวมถึงบริษัทคู่ค้า ที่จะสามารถตรวจสอบการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและการค้าได้ ซึ่ง สนค. ได้ทดลองนำร่องในสินค้าข้าวอินทรีย์และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายผลไปยังสินค้าศักยภาพอื่นต่อไป ในการใช้งานตรวจสอบย้อนกลับนั้น สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดหรือตรวจสอบจากเลขที่ระบุลอตการผลิตบนฉลากสินค้าผ่านเว็บไซต์ TraceThai.com จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลสินค้าตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การจำหน่าย รวมถึงข้อมูลการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งระบบนี้ได้เปิดการใช้งานอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งยังได้รับรางวัล Best Practice ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปี 2563 จากกระทรวงอุตสาหกรรรม
แม้ในช่วงนี้จะประสบปัญหาการดำเนินงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แต่การดำเนินงานยังคงเดินหน้าต่อ โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สนค. และพันธมิตร อาทิ ธ.ก.ส. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และต่างประเทศ ได้แก่ พาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้หารือร่วมกันที่จะปรับการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ครั้งนี้ เช่น เลื่อนการลงพื้นที่เพื่อเผยแพร่การใช้งานระบบในจังหวัดที่มีศักยภาพผลิตสินค้าข้าวอินทรีย์ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือออกไปก่อน พร้อมนำรูปแบบการทำงานและจัดประชุมออนไลน์มาใช้ สำหรับในปีนี้มีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานในระบบให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจและเชิญชวนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เข้าสู่ระบบ ไม่น้อยกว่า 150 กลุ่ม/คน นอกจากนี้ ยังได้หารือกับกรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อขยายการใช้งานการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) เช่น เชื่อมกับระบบ National Single Windows นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาระบบ Blockchain สำหรับสินค้า GI ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
---------------------------------------------
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
29 เมษายน 2564