นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกผลไม้สดของไทย โดยพบว่า ผลไม้สดเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่ผลไม้บางชนิดมีการพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนสูง เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 80 - 90 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง (การส่งออกหดตัวในปี 2565 แต่ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัว) โดยช่วงปี 2561 - 2565 มีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 22.8 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1,944.5, 2,908.4, 3,311.9, 5,061.1 และ 4,416.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ และมีอัตราการเติบโต อยู่ที่ร้อยละ 16.0, 49.6, 13.9, 52.8 และ -12.8 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่าไทยพึ่งพาการส่งออกผลไม้สดไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียน มังคุด ลำไย และส้มโอ โดยในปี 2561 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.2 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.3 ในปี 2565 ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - ตุลาคม) มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 91.6
นายนภินทร กล่าวว่า ผลไม้เป็นสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ผลไม้สดของไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ดังนั้น ต้องเร่งเจาะตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียว ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกหลักอย่างจีนควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ ในวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยเชิญผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพจากต่างประเทศมาเยือนไทย ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับโรดแมปมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs ที่วางไว้เพื่อขับเคลื่อนมูลค่า SMEs ไปสู่สัดส่วนร้อยละ 40 ของ GDP ในปี 2570 ทั้งการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคาและรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด