สนค. เผยตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ในรายการที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีจีน มูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและไทยบ้าง แต่การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยางไทยมีโอกาสขยายตัว พร้อมแนะแนวทางรับมือและใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจีน มีจำนวน 14 รายการ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ และกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา และส่วนประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ EV และรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์ EV กราไฟต์ธรรมชาติ แร่ธาตุสำคัญ แม่เหล็กถาวร เครนขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์หน้าท่า เหล็กและอะลูมิเนียม หน้ากาก และถุงมือยางชนิดที่ใช้ทางการแพทย์ โดยในปี 66 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในรายการข้างต้นรวมมูลค่าทั้งหมด 168.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากจีนมูลค่า 18.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 4.3% สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง มี 4 รายการสินค้า ได้แก่ โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง
คาดเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยางไทยได้ประโยชน์
สนค. คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่ จะยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกในภาพรวม อีกทั้งจะต้องติดตามการดำเนินการของจีนที่อาจตอบโต้สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ไม่น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปี 61 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมูลค่าการค้าโลกหดตัวอย่างชัดเจนในปี 62 (GDP ไทย ปี 62 ชะลอตัวเหลือ 2.1% จาก 4.2% ทั้งในปี 60 และปี 61 และการส่งออกไทยปี 62 หดตัว 2.6% จากขยายตัว 9.9% และ 6.9% ในปี 60-61) ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยอาจได้อานิสงส์ในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง นอกจากนี้ คาดว่าไม่น่าจะมีผลต่อรถยนต์ไฟฟ้าของไทย เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่ในอาเซียนและโอเชียเนีย ขณะที่ยังต้องติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่สหรัฐฯ จับตา อย่างเช่น โซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จะเฝ้าระวังการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและกำลังการผลิตส่วนเกินจากประเทศในอาเซียน
จากสถิติการค้าปี 66 พบว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ถุงมือยาง และโซลาร์เซลล์รายใหญ่เบอร์ 1 ของโลก และนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์สูงที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 5 มูลค่าการนำเข้า 2,322 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 5.6% ของมูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐฯ) หดตัว 29.6% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 6 มูลค่าการนำเข้า 1,960 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 4.7%) หดตัว 10.0% ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่หดตัว 15.1% นอกจากนี้ การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วงปี 60-66 ขยายตัวถึง 13.6% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากจีนและมาเลเซีย (แหล่งนำเข้าอันดับ 1) หดตัว 6.0% และ 3.9% ตามลำดับ
แหล่งนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มาจากประเทศในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก สำหรับจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 8 มูลค่าการนำเข้า 1,681 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 3.2%) หดตัว 32.8% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 17 มูลค่าการนำเข้า 680 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 1.3%) หดตัว 31.3% อย่างไรก็ดี การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากไทยในช่วงปี 60-66 ขยายตัวถึง 9.7% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าการนำเข้าจากจีนและเวียดนาม (แหล่งนำเข้าอันดับ 14) อยู่ที่ -8.1% และ 2.5% ตามลำดับ
แหล่งนำเข้าถุงมือยางส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มาจากประเทศในอาเซียนและจีน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย มูลค่าการนำเข้า 398 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 24.9%) หดตัว 22.0% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มูลค่าการนำเข้า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 22.5%) หดตัว 22.8 ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และมาเลเซียที่หดตัวร้อยละ 37.3 และ 46.7 ตามลำดับ สำหรับแหล่งนำเข้าโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มาจากประเทศในอาเซียน โดยการนำเข้าจาก 4 ประเทศอาเซียน (เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา) คิดเป็นสัดส่วน 75.2% สำหรับจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 17 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าต่ำกว่า 1% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มูลค่าการนำเข้า 4,150 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 21.5%) ขยายตัว 158.5% ซึ่งถือว่าดีกว่าการเติบโตของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และเวียดนาม (แหล่งนำเข้าอันดับ 1) ที่ขยายตัว 87.5% และ 44.2% ตามลำดับ
ที่ผ่านมา การค้าสหรัฐฯ-จีนลดลงชัดเจน และนำเข้าสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนหดตัว 16.6% ในปี 62 แม้ต่อมามีการขยายตัวในบางปี แต่การนำเข้ากลับมาหดตัวสูงอีกครั้งที่ 20.3% ในปี 66 และส่วนแบ่งตลาดของจีนในสหรัฐฯ ลดลงถึง 7.7% ในช่วงปี 60-66 ทั้งนี้ ในปี 66 จีนเสียตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ที่ยาวนานต่อเนื่อง 14 ปี ให้แก่ เม็กซิโก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐฯ หดตัว 20.8% ในปี 62 แม้ต่อมาการนำเข้ามีการขยายตัวในปี 63-64 แต่การนำเข้าจากสหรัฐฯ กลับมาหดตัว 0.4% และ 6.5% ในปี 65-66 และส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯ ในจีน ลดลง 1.9% ในช่วงปี 60-66
ไทยได้อานิสงส์ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ และส่งสินค้าทดแทนในสองประเทศ
ในช่วงปี 62-66 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปจีนขยายตัวในบางปี ทั้งนี้ หลังการเกิดสงครามการค้า (ปี 60-66) ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 1.3% เป็น 1.8% โดยสินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และส่วนประกอบของยานยนต์ ขณะที่สินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน อาทิ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
สนค. แนะแนวทางรับมือและช่วงชิงโอกาสจากสงครามการค้า โดย
(1) ช่วงชิงโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง โดยเร่งขยายการค้าและการส่งออก จากที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทดแทนจีน เร่งดึงดูดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเร่งดึงดูดคนเก่งที่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงการดึงดูดคนเก่งที่มีแนวโน้มออกจากจีน
(2) รับมือกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น โดยติดตามสถานการณ์แนวโน้มทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย ดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม และลดความผันผวนทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้า
(3) ปรับตัวตามทิศทางแนวโน้มโลก โดยการปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการยึดโยงอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ และจีน อาทิ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญกับสหรัฐฯ และจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์) ยานยนต์สมัยใหม่ และพลังงานสะอาด ปรับโครงสร้างสินค้าด้วยการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูง ปรับกลยุทธ์การส่งออกของไทย ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และขยายการส่งออกในตลาดจีน ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับตัวสำหรับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG
(4) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งการผลิต การค้า และการลงทุน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในประเทศ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าส่งออก และเป็นการปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุน และจัดทำและปรับปรุงความตกลงทางการค้าเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน รวมถึงเร่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น
รายงานผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รอบใหม่ ฉบับเต็ม: