คาดการณ์ว่าปี 2567 ตลาดข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organism : GMO) ทั่วโลก มีมูลค่า 264,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าระหว่างปี 2566 – 2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 5 หรือจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 384,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 (ที่มา: GII Research) อุปทานที่เพิ่มขึ้นของข้าวโพด GMO จากผู้ผลิตรายใหม่ ๆ อย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวโพดที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน อาจผลักดันให้ราคาข้าวโพดทั่วโลกปรับตัวลดลงในอนาคต
กระทรวงพาณิชย์ โดย นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การวิจัยและพัฒนาข้าวโพด GMO ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า จีนประสบความสำเร็จในด้านการวิจัยดังกล่าวครั้งแรกในปี 2540 โดยสามารถวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานแมลงศัตรูพืชได้ และจีนได้ดำเนินการวิจัยด้านดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง มีการทดลองภาคสนามเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของพืช GMO เหล่านี้ รวมทั้งได้เริ่มเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพด GMO มาตั้งแต่ธันวาคม 2563 (ที่มา: Ministry of Agriculture and Rural Affairs of People’s Republic of China : MOA)
ปี 2566 จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวโพด (HS Code: 100590) อันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 27.14 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,017.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.99% จากปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ (ที่มา: Global Trade Atlas : GTA) ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวโพดซึ่งใช้พันธุ์ข้าวโพด GMO ที่สำคัญของโลก และในปีเดียวกันจีนมีผลผลิตข้าวโพดในประเทศรวม 288.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อนหน้า (YoY) และเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2563 (ปี 2563 จีนมีผลผลิตข้าวโพด 239 ล้านตัน) ซึ่งในปี 2566 จีนมีความต้องการใช้ข้าวโพดภายในประเทศอยู่ที่ 293 ล้านตัน (ที่มา: MOA) ส่วนในปีนี้ (ปีการผลิต 2567/68) คาดว่าจีนจะมีปริมาณผลผลิตข้าวโพดอยู่ที่ 296 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4%YoY
จะเห็นว่าปริมาณผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศของจีนยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การวิจัยและพัฒนาข้าวโพด GMO ของจีน จึงไม่ใช่เพียงเพื่อการต่อสู้กับโรคและศัตรูพืชเท่านั้น แต่ยังต้องการเพิ่มปริมาณอุปทานของข้าวโพดภายในประเทศเพื่อความมั่งคงด้านอาหารและการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านธัญพืช ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรภายในประเทศที่สำคัญตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2567 จีนได้ออกประกาศรายการข้าวโพด GMO 37 สายพันธุ์ จาก 24 บริษัทและหน่วยงานวิจัย ที่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ใน 8 มณฑลของจีน ประกอบด้วย มองโกเลียใน กานซู เหอเป่ย จี๋หลิน เหลียวหนิง กว่างซี เสฉวน และยูนนาน (ปี 2563 อนุญาตให้ปลูกได้ใน 2 มณฑล ปี 2566 เพิ่มเป็น 5 มณฑล) ซึ่งใน 4 มณฑล (จี๋หลิน มองโกเลียใน เหลียวหนิง และเหอเป่ย) สามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพด GMO ได้ในทุกพื้นที่ จึงคาดว่าจีนจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด GMO เพิ่มขึ้นเป็น 4.17 – 6.25 ล้านไร่ ในปีนี้ (เพิ่มขึ้นจาก 1.67 ล้านไร่ ในปี 2566) (ที่มา: คณะกรรมการกิจการการเกษตรและชนบทนครฉงชิ่ง)
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลจีนได้เผยแพร่เอกสารหมายเลข 1 ฉบับที่ 12 แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The Communist Party of China : CPC) ที่ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาชนบท และภาคการเกษตรของจีน เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นทุกปี โดยในปีนี้ ได้กล่าวถึงการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาเขตพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุม ที่มุ่งเน้นการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง บนพื้นฐานการวิจัยพัฒนา และการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการผลิตพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร โดยมีเป้าหมายในการยกระดับผลผลิตธัญพืชให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
แนวนโยบายดังกล่าวจึงเป็นการเน้นย้ำว่าจีนจะพัฒนาการใช้ข้าวโพด GMO เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับผลผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าธัญพืช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างการใช้ข้าวโพด GMO เชิงพาณิชย์ แม้ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพด GMO ของจีนจะมีไม่ถึง 1% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งประเทศ (พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งหมดของจีน ปี 2566 อยู่ที่ 276.37 ล้านไร่ – ที่มา: MOA) ทั้งนี้ จากรายงานของ Foreign Agricultural Service (FAS) คาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด GMO ของจีนในช่วงปี 2568 – 2570 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 – 15% ต่อปี
“ถึงแม้ข้าวโพดจะไมใช่สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่ข้าวโพดเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และเอทานอล ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และจีนเองก็เป็นตลาดมันสำปะหลังที่สำคัญของไทย การที่จีนจะหันมาใช้ข้าวโพด GMO เพื่อการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ อาจกระทบต่อความต้องการมันสำปะหลัง ดังนั้น จึงควรหาแนวทาง เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่มีแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่ตลาด ซึ่งไทยมีตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกมันเส้นที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” นายพูนพงษ์กล่าว