นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นผลให้หลายภาคส่วนธุรกิจต้องปรับตัว แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นโอกาสให้กับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุเติบโต ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขและการคาดการณ์จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณ 1.15 พันล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1.66 พันล้านคน ในปี 25831 ขยายตัวกว่าร้อยละ 45.2 สำหรับไทย ในปี 2566 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรไทยทั้งประเทศ2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.353 โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.89 ต่อปี4 การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุของไทย ประกอบกับภาวะประชากรสูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และจำนวนประชากรโสดได้มีการขยายตัว อีกทั้งอัตราการสร้างครอบครัวที่ต่ำลง อัตราการมีลูกที่ลดลง การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น การเจ็บไข้และป่วยเรื้อรังที่ต้องการคนดูแลตลอด 24 ชม. รวมถึงความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยี ล้วนเป็นแรงสนับสนุนให้ความต้องการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองการดำรงชีพพื้นฐานของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริบาล หรือเนอร์สซิ่งโฮม ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานการวิจัยตลาดโดย Zion Market Research เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2566-2575 โดยมูลค่าตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน (Adult Day Care) สถานบริบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (Institutional Care) และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Care) ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1,025.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 1,965.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2575 ด้วยปัจจัยของอายุขัยประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และภาวะการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ในวัยสูงอายุที่สูงขึ้น เช่น โรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์5
ทั้งนี้ ตลาดธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก6 เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมักเป็นจุดหมายปลายทางในการพำนักระยะยาวในวัยเกษียณของชาวต่างชาติจากทั่วโลก (Retirement Destination) เป็นอานิสงส์กระตุ้นให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน โดยเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานมากเป็นอันดับ 4 ของโลก7 ประชากรเกิดใหม่ลดต่ำลง และประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ สถานบริบาล หรือเนอร์สซิ่งโฮมบางแห่งในประเทศญี่ปุ่น จึงปรับตัวโดยการใช้เทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรม อย่างหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์หลักที่นำมาใช้ในเนอร์ส ซิ่งโฮมมี 3 รูปแบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ที่เป็นเสมือนสัตว์เลี้ยง (AIBO Robot Dog) ช่วยปลอบประโลมความเหงาของผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ฝึกเดิน (Exoskeleton) ช่วยฟื้นฟูและประคับประคองผู้สูงอายุที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว และหุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์ คอยช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึมเศร้า (PARO Social Robot) นอกจากหุ่นยนต์จะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง8 และช่วยบรรเทาเรื่องการขาดแคลนแรงงานแล้ว หุ่นยนต์ที่นำมาใช้เหล่านี้ยังเป็นเสมือนผู้ช่วย และเป็นเพื่อนในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในสถานบริบาล
สิงคโปร์ได้มีการนำเทคโนโลยีอย่าง AI และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น การใช้ระบบป้าย RFID Tag ติดตามผู้ป่วยที่มีภาวะหลงลืม หรือสมองเสื่อม โดยระบบป้ายติดตามจะมีสัญญาณเตือนเมื่อผู้สูงอายุอยู่ไกลเกินจากอาณาเขตที่กำหนด การใช้ Smart Glasses หรือแว่นตาอัจฉริยะ สำหรับพยาบาลผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่สามารถแปลงข้อมูลวิดีโอ ณ ขณะปัจจุบัน (real-time) จากภาพที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุมองผ่านแว่นตา เพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ9 เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคลอยู่จำนวน 887 ราย10 และจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในประเทศไทย สะสม ณ เดือนมิถุนายน ปี 2566 มีจำนวน 758 แห่ง เป็นประเภทสถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือเนอร์สซิ่งโฮม จำนวน 708 แห่ง ใน 55 จังหวัด และช่วงระหว่างปี 2561–2566 จำนวนเนอร์สซิ่งโฮม มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 25.1 ต่อปี11 ซึ่งโดยมากยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้ขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ผอ. สนค. ให้ความเห็นว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยง และอาศัยธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ดียังมีความท้าทาย เช่น การพัฒนามาตรฐานการให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานบริบาล ทั้งในแง่มาตรฐานวิชาชีพของแรงงาน และมาตรฐานของสถานประกอบการ การขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในประเทศ การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศยังมีไม่เพียงพอ การขาดเทคโนโลยี จำนวนสถานที่หรือจำนวนเตียงผู้ป่วยยังมีไม่เพียงพอ ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ ดังนี้
(1) ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และแรงงานในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มพยาบาล หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยทักษะ และความเชี่ยวชาญ
(2) ควรใช้ประโยชน์จากเทรนด์เรื่องการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน (Wellness) มาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
(3) ควรสร้างเครือข่ายกับธุรกิจบริการสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงเรียนฝึกอาชีพ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็งขึ้น
(4) ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และ Health Tech เช่น บริการสุขภาพดิจิทัล การใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Tech) และการใช้แอปพลิเคชัน Telemedicine สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ สู่การเป็นธุรกิจบริการมูลค่าสูง
1 The 2024 Revision of World Population Prospects (July 2024 Release) องค์การสหประชาชาติ
2 จำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทย ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ปี 2566 กรมกิจการผู้สูงอายุ
3 คำนวณโดยใช้ข้อมูลสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ปี 2565-2566 กรมกิจการผู้สูงอายุ
4 คำนวณโดยใช้ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง
5 Elderly Care Services Industry Prospective, 2023, Zion Market Research
6 Elderly Care Services Industry Prospective, 2023, Zion Market Research
7 10 Countries with the Longest Life Expectancies (United Nations 2023), World Population Review
8 My robot and I: Japanese stories of technology and old age, ElPais
9 Delivery robots and smart glasses: Innovations free up nursing home staff to provide better care, Channel News Asia (CNA)
10 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ เดือนกรกฎาคม 2567 TSICS รหัส 87100 หน่วยบริการทางการพยาบาลที่จัดที่พักให้ รหัส 87301 กิจกรรมดูแลรักษาในสถานที่ที่มีที่พักและมีคนดูแลประจำสำหรับผู้สูงอายุ รหัส 86909 กิจกรรมอื่น ๆ ด้านสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น และ รหัส 88101 กิจกรรมสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
11 บทความข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ทั่วประเทศ ปี 2566 โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Information Center)