นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวภายหลังการจัดงานแถลงผลการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 โดยเปิดเผยว่า สนค. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ สำรวจข้อมูลชุมชนในระดับฐานรากในทุกชุมชนทั่วประเทศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพความเป็นอยู่ ปัญหา และความต้องการ รวมทั้งจัดทำดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานรากของประชาชนกลุ่มฐานรากในแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้ติดตามสถานะปัญหาและความต้องการของประชาชนฐานราก และนำไปสู่ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการให้มากที่สุด
สำหรับปีงบประมาณ 2567 สนค. ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ดำเนินโครงการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนฐานราก จากผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน จำนวน 28,413 ตัวอย่าง จากกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชนเช่นเดิม โดยมีสาระสำคัญของผลการศึกษาประกอบด้วย ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ปัญหาและความต้องการของชุมชน และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ดังนี้
1. ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนฐานรากของกลุ่มสมาชิกในชุมชนภาพรวม ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.8 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่น และปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.7 ในปี 2566 โดยเป็นการวัดใน 3 มิติ คือ 1) สถานะทางการเงิน 2) ศักยภาพในการประกอบอาชีพ และ 3) ภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่นมาจากประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า หากได้รับโอกาสที่ดีขึ้นจะสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการสร้างรายได้หรืออาชีพให้ดีขึ้นได้ สำหรับกลุ่มผู้นำชุมชนภาพรวมปี 2567 มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับ 54.0 เนื่องจากมีระดับความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในการประกอบอาชีพ และสถานะทางการเงินลดลงเล็กน้อย ซึ่งเมื่อจำแนกกลุ่มสมาชิกในชุมชนตามภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุดอยู่ในระดับ 61.7 รองมา คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 55.8 54.6 53.8 และ 52.6 ตามลำดับ สำหรับกลุ่มอาชีพ พบว่า ประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพมีความเชื่อมั่นในภาพรวม โดยกลุ่มพนักงานของรัฐมีระดับความเชื่อมั่นมากที่สุดในระดับ 60.1 รองลงมา คือ กลุ่มพนักงานเอกชน กลุ่มค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว กลุ่มเกษตรกร กลุ่มรับจ้าง และกลุ่มไม่ได้ทำงาน อยู่ในระดับ 55.5 54.9 52.5 52.4 และ 51.0 ตามลำดับ
2. ประเด็นปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือในมุมมองของกลุ่มสมาชิกในชุมชนและผู้นำชุมชุม พบว่ามีความสอดคล้องกัน โดยเรื่องที่มีระดับของปัญหามากที่สุดต่อเนื่องในทุกปี คือ ด้านรายได้และการประกอบอาชีพ และด้านค่าครองชีพ สำหรับเรื่องอี่น ๆ ไม่พบปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ปัญหาในแต่ละภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือ 3 อันดับในมุมมองของสมาชิกในชุมชน ได้แก่ การลดราคาค่าไฟฟ้า/ประปา การลดราคาค่าสินค้าและบริการ และการเพิ่มค่าจ้าง/ค่าตอบแทน สอดคล้องกับความต้องการของผู้นำชุมชน
3. ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นรายได้ครัวเรือนต่อเดือน พบว่า ร้อยละ 85.1 มีมุมมองว่ารายได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ โดยร้อยละ 41.1 ต้องการรายได้เพิ่มมากกว่า 5,000 บาทต่อเดือนจึงจะเพียงพอ ประเด็นการออม ร้อยละ 59.3 ของครัวเรือนมีการออมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.7 ส่วนที่เหลือไม่มีการออม โดยมีสาเหตุจากรายได้ไม่เพียงพอและมีภาระหนี้สิน ขณะที่พนักงานของรัฐเป็นกลุ่มอาชีพที่มีการออมมากที่สุด ประเด็นหนี้สิน ร้อยละ 65.3 มีหนี้สิน โดยเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 69.5 หนี้นอกระบบ ร้อยละ 7.0 และหนี้ทั้งในและนอกระบบ ร้อยละ 23.5 เรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ จากภาครัฐมากที่สุด คือ การเงิน ร้อยละ 30.5 รองลงมา คือ โอกาสในอาชีพ ร้อยละ 29.0 เมื่อสอบถามความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้านรายได้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.3 เห็นว่าในปีหน้า (ปี 2568) จะมีรายได้คงเดิม ด้านการใช้จ่าย ครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.2 เห็นว่ารายจ่ายจะเพิ่มขึ้น และด้านหนี้สิน ครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.5 เห็นว่าหนี้สินจะเพิ่มขึ้น และด้านความมั่นคงในรายได้/อาชีพ ครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.8 เห็นว่ารายได้/อาชีพ ในปีหน้าจะไม่แน่นอน
รอง ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนและฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน ชุมชนหลายแห่งขาดการพัฒนาทั้งที่เกิดจากปัญหาศักยภาพและการขาดโอกาส ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ผลการศึกษาจากโครงการนี้ จะช่วยชี้ประเด็นของแต่ละชุมชน เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ และนำไปพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างตรงจุด ซึ่งน่าจะช่วยร่นระยะเวลาการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ