สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ จัดงาน Public hearing ร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2570 เพื่อสร้างการรับรู้ทิศทางการพัฒนาการค้าของประเทศภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการฯ และหลังจากนี้จะทำงานในขั้นตอนถัดไป เพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ ออกมาสมบูรณ์ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนส่งไปยังสภาพัฒน์ฯ พิจารณากลั่นกรอง และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามลำดับต่อไป
วันที่ 18 กันยายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สนค. จัดงาน Public hearing ร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2570 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ทิศทางการพัฒนาการค้าของประเทศ ภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งภายในงานมีผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม โดยได้นำเสนอภาพรวมของร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติฯ ซึ่งได้ทบทวนภายหลังจากที่รับฟังความคิดเห็น (Focus group) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย เนื้อหาแผนปฏิบัติการ 5 เรื่องสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งแต่ละเรื่องได้วางประเด็นการพัฒนาให้ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์การค้าในยุคปัจจุบัน
1. การพัฒนาการค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมโอกาสทางการค้าภายในประเทศ (2) การสร้างโอกาสการส่งออก (3) การพัฒนาความสามารถของธุรกิจ SMEs ทั้งทักษะการดำเนินธุรกิจ และการปรับตัวต่อการค้าโลกในปัจจุบัน และ (4) การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ
2. การพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่ตอบสนองต่อ Megatrends พัฒนาสินค้า Product Champion ในระดับจังหวัด/ท้องถิ่น ให้เป็นสินค้าส่งออก ตลอดจนกระจายตลาดส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) มากขึ้น (2) ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งออก และการรักษาเสถียภาพทางเศรษฐกิจ (3) สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานสินค้า และ (4) คุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมทางการค้า
3. การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมการจัดการปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน (2) การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการสินค้าเกษตร (3) การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (4) การส่งเสริมระบบตลาดสินค้าเกษตร เพื่อบริหารจัดการปริมาณและราคาสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และ (5) การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตร เพื่อกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และคงคุณภาพของสินค้าไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) การยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2) การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน (3) การเร่งเสริมทักษะแรงงานให้สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ (4) การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
5. การค้าธุรกิจบริการ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการ (2) การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการ (3) การพัฒนาคนในการขับเคลื่อนภาคบริการแห่งอนาคต และ (4) การส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการ
นอกจากนี้ ภายในงานยังเสริมด้วยการเสวนาหัวข้อ “ไทยควรเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจการค้าอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อทิศทางการทำนโยบายการค้าของประเทศในระยะกลาง-ยาว และนำมาปรับใช้กับการทำงานและการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติในอนาคต
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และกล่าวว่า หลังจากนี้จะทำงานในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติฯ ออกมาสมบูรณ์ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนส่งไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณากลั่นกรอง และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามลำดับต่อไป