สนค. ชวนถอดรหัสการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนด้วย Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกทุเรียนไทยเป็นมูลค่าสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาที่ไทยภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าอาเซียน-จีน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์สถานการณ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าที่มีอยู่ พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าให้มากขึ้น
ปัจจุบันไทยและจีนอยู่ภายใต้ความตกลงทางการค้าร่วมกันทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันครอบคลุมสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกครอบคลุมสินค้าร้อยละ 65 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน
สนค. พบว่าสัดส่วนมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อมูลค่าการส่งออก/นำเข้าของไทยสูงกว่าจีน แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าขอใช้สิทธิพบว่าจีนมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าไทย จากข้อมูลการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 2566 ไทยมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกรวม เทียบกับจีนที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอยู่ที่ร้อยละ 32 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมิติของมูลค่า จีนมีมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ 22,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 20,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตารางรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในปี 2566
รายการ |
มูลค่าการส่งออก |
มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ |
% มูลค่าการใช้สิทธิต่อมูลค่าการส่งออก |
การเปลี่ยนแปลง |
การส่งออกของไทยไปจีน |
34,173 |
20,578 |
60% |
-1.9% |
การนำเข้าของไทยจากจีน |
70,827 |
22,905 |
32% |
+10.1% |
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสินค้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิสูงที่สุดของแต่ละประเทศ พบว่าไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าทุเรียนสดสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า โดยประเทศไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกทุเรียน (HS 0810.60) เป็นมูลค่า 4,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (HS 8703.80) เป็นมูลค่า 2,464 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีน ดังนั้น หากเปรียบเทียบเฉพาะสินค้าสำคัญอันดับ 1 ของทั้งสองประเทศ ไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าจีน
เปรียบเทียบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในปี 2566: สินค้าอันดับ 1 ของไทย (ทุเรียน) และจีน (รถไฟฟ้า)
รายการ |
มูลค่าการส่งออก |
มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ |
% มูลค่าการใช้สิทธิต่อมูลค่าการส่งออก |
การเปลี่ยนแปลง |
การส่งออกของไทยไปจีน ทุเรียน (HS 081060) |
4,021 |
4,021 |
100% |
+0.4% |
การนำเข้าของไทยจากจีน รถยนต์ไฟฟ้า (HS 870380) |
2,538 |
2,464 |
97% |
+561.6% |
ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-จีนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น ทุเรียน และมันสำปะหลัง และจะเห็นได้ว่าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าระหว่างไทยและจีนได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้าได้มากขึ้น ด้วยการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับผู้ส่งออกไทยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความตกลงทางการค้า รวมถึงการใช้ Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์คิดค้า.com เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนทางการค้าได้อย่างแม่นยำ
ผอ.สนค. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ “คิดค้า.com” เป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึกและทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้แนวคิด Big Data Analytics วิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง โดย “คิดค้า.com” มี Data Analytics Dashboard เผยแพร่แล้วรวม 4 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าสินค้าเกษตร (Agriculture Trade Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Economy Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (Global Trade and Economy Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านโลจิสติกส์ (Logistic Dashboard) ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจข้อมูลแนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าและตลาดอื่น ๆ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ คิดค้า.com หรือเพจเฟซบุ๊กสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า