ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลใช้บังคับแล้วจำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หากนับ FTA ฉบับล่าสุดระหว่างไทย-ศรีลังกา ที่ได้ลงนามไปเมื่อช่วงต้นปี 2567 จะทำให้ไทยมี FTA รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ และยังมีอีกหลาย FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่กำลังเจรจาอยู่ โดยมี FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป อยู่ในแผนที่จะปิดดีลได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA กับยุโรป และเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ของรัฐบาล โดยที่ผ่านมาการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศในภูมิภาคยุโรปถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคู่เจรจาที่มีกฎระเบียบและมาตรฐานสูงในหลายด้าน และเป็น FTA สมัยใหม่ที่ข้อตกลงฯ มีความครอบคลุมขยายขอบเขตไปยังด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต่างจากยุคแรกที่เน้นด้านการค้าและการลงทุน
FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป
FTA ฉบับนี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยมีกับประเทศในยุโรป โดยสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) หรือเอฟตา ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยเอฟตาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พร้อมทั้งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 0.179 ต่อปี พร้อมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ในส่วนของการเจรจาจัทำ FTA ระหว่างกัน มีการเจรจามาแล้ว 10 รอบ โดยรอบล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังคงเหลือประเด็นคงค้างบางประเด็นที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567
ในปี 2566 เอฟตาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย การค้าระหว่างไทย-เอฟตา มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.67 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นร้อยละ 1.72 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแยกเป็นรายประเทศพบว่า การค้าระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์มีการค้ามากที่สุดในประเทศสมาชิกเอฟตา ด้วยมูลค่า 8,951.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการค้าไทยกับเอฟตา ตามด้วยนอร์เวย์ (846.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลิกเตนสไตน์ (70.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และไอซ์แลนด์ (20.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
FTA ไทย-สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรป (European Union: EU) หรืออียู ประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย โดยตลาดอียูถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทยทั้งในด้านขนาดของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายต่างติดตามและผลักดันให้มีการเจรจาจัดทำ FTA มาโดยตลอด ประกอบกับอียูจะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่สหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกันไทยเองก็มีศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ และการเกษตร ซึ่งการจัดทำ FTA ฉบับดังกล่าวจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 1.28 ต่อปี ส่งผลให้สินค้าศักยภาพของไทย อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก สามารถส่งออกไปตลาดอียูได้มากขึ้น ในส่วนของการเจรจา FTA ทั้งสองฝ่าย มีการเจรจาไปแล้ว 3 รอบ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และมีแผนการเจรจารอบที่ 4 ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าปิดดีลภายในปลายปี 2568
ในปี 2566 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจาก จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่า 41,712.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นร้อยละ 7.27 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 21,958.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 19,753.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในอียู ด้วยมูลค่าการค้า 10,737.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25.74 ของการค้าไทยกับอียู รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ (6,864.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ฝรั่งเศส (5,295.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อิตาลี (5,061.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเบลเยียม (2,388.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ไทย…จะได้อะไรจาก FTA ?
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มว่า การเจรจาจัดทำ FTA ของไทยในภูมิภาคยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้ง ไทย-อียู และ ไทย-เอฟตา จะช่วยขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มความน่าดึงดูดใจแก่นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก FTA ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่มีมาตรฐานสูงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และมีความต้องการสินค้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ทว่าการเจรจายังคงมีความท้าทายจากประเด็นใหม่ ๆ อย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และแรงงาน ดังนั้น ไทยจึงควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับกฎระเบียบและมาตรฐานทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกว่าความตกลงฯ ที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต