นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวของผู้ผลิตและผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันการผลิตและการค้าภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายภายใต้สถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ควรเร่งปรับตัวและพัฒนาการผลิตเพื่อคว้าโอกาสและช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวลดโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมสินค้ารักษ์โลก และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย1 พบว่า ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 69.96 เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ดังนั้น หลายประเทศรวมทั้งไทย มีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพื่อเจาะตลาดข้าวพรีเมียม ทั้งนี้ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก ก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง
“ข้าวคาร์บอนต่ำ” คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร (เช่น ไม่เผาฟางข้าว) นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน
ในส่วนของเวียดนาม ก็มีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ และพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ซึ่งเวียดนามใช้เทคนิคการปลูกข้าวคล้ายกับไทย โดยเน้นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันเวียดนามผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ผลิต “ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice)” เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต2 นอกจากนี้ เวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า โดยเฉพาะการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย
เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนาม พบว่า มีปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงกันมาก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกข้าว 8.77 ล้านตัน มูลค่า 5,147.3 ล้านเหรียญสหรัฐ3 และเวียดนามส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน มูลค่า 4,675.7 ล้านเหรียญสหรัฐ4 และส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กันยายน) ไทยส่งออกข้าว 7.45 ล้านตัน มูลค่า 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 6.96 ล้านตัน มูลค่า 4,353.3 ล้านเหรียญสหรัฐ5 และจากความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแข่งขันของตลาดข้าวโลกในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไทยจึงควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น “ข้าวคาร์บอนต่ำ” ถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลก เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าข้าวและภาคการเกษตรไทยในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
1 ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2562 พบว่า มาจาก (1) ภาคพลังงาน 69.96% (2) ภาคเกษตร 15.23% (3) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 10.23% และภาคของเสีย 4.53% (ที่มา: จากกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ https://climate.dcce.go.th/th/topic/database/ghg-inventory/#1629282919444-c753cf76-4c5c)
2 กรมการค้าต่างประเทศ: ข้อมูลสถานการณ์ข้าวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เดือนเมษายน 2567
3 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
4 กรมศุลกากรเวียดนาม: https://files.customs.gov.vn/CustomsCMS/TONG_CUC/2024/1/11/2023-T12K2-1X(TA-SB).pdf
5 กรมศุลกากรเวียดนาม: https://files.customs.gov.vn/CustomsCMS/TONG_CUC/2024/10/9/3232024-t9-2x(ta-sb).pdf