สนค. เผยมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะและ AI เล็งเห็นโอกาสการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ พร้อมหนุนพัฒนาศักยภาพทางการค้าของผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า PCB คือส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทางเดินสัญญาณไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อาทิ ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน ไดโอด และเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อกันได้และสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดย PCB มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ จากข้อมูลของ Precedence Research ผู้ให้บริการด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกมีมูลค่า 86.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 5.8 ต่อปี จนมีมูลค่าถึง 152.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2033 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทั้งนี้ ในปี 2023 จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออก PCB มากที่สุดในโลก มูลค่า 17.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 4.62 ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 ของโลกและอันดับที่ 2 ของอาเซียนในปี 2023 มูลค่า 1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.86
ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นรากฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูง เห็นได้จากการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB อาทิ จีน มีนโยบาย “Made in China 2025” ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต PCB ขั้นสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ส่วนมาเลเซีย จัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมแห่งชาติ (New Industrial Master Plan: NIMP) 2030 ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง PCB และยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (National Semiconductor Strategy: NSS) ที่ส่งเสริมและพัฒนาการผลิต PCB ให้สามารถรองรับการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความซับซ้อนสูง ในขณะที่เวียดนาม จัดทำแผนปฏิบัติการและกลยุทธ์การพัฒนาศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ และเขตอุตสาหกรรมไฮเทค 3 แห่ง เพื่อรองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต
นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกกฎหมายและมาตรการสนับสนุนหลายประการเพื่อผลักดันการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB อาทิ สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 เพื่อสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึง PCB ภายในประเทศ โดยมีโครงการสนับสนุนทางการเงินหลายระดับ ร่วมกับการให้เครดิตภาษีร้อยละ 25 สำหรับการซื้อและจัดหา PCB ที่ผลิตภายในประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่น สนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเกาหลีใต้ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมายให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดผู้ประกอบการให้มาลงทุน อีกทั้งยังมีระบบสนับสนุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การให้บริการด้านภาษา และการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการเงิน
สำหรับประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ภายในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดให้อุตสาหกรรมการผลิต PCB อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2566-2570 และให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ การยกเว้นภาษีอากรนำเข้าวัตถุดิบ และการให้ครอบครองที่ดินและประกอบกิจการ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนกิจการอื่น ๆ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรม PCB และจัดกิจกรรมเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับผู้ผลิต PCB อีกทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการจัดหาและพัฒนาทักษะแรงงานผ่านกิจกรรม Job Matching และโปรแกรม Upskill และ Reskill เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากร ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากนโยบายปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย โดยมุ่งเน้นการส่งออกในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง PCB ร่วมกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนข้อมูลทางการค้าและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และ AI ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม PCB ไทย โดยอาจนำนโยบาย/มาตรการของประเทศสำคัญและประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม PCB ภายในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน ให้ตอบสนองต่อความต้องการ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิต PCB และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก