นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 5,682 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 51.6 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนว่าประชาชนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการบริโภคของประชาชน ควบคู่กับการสนับสนุนภาคธุรกิจ การส่งออกไทยที่เติบโตได้ดี รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปียังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจบริการและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2567 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นหรือมีค่ามากกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 51.6 แม้จะปรับตัวลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น เนื่องจาก (1) ภาครัฐมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นการลงทุน อาทิ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ผ่านกิจกรรมลดราคาสินค้าและบริการ และการแจกส่วนลดสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs (2) ภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวในช่วงปลายปีและเทศกาลปีใหม่ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง และการจัดงานเฟสติวัลในช่วงเทศกาล ช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และ (3) การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.54 รองลงมาคือ มาตรการของภาครัฐ ร้อยละ 13.62 สังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 8.03 เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 7.55 ราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 7.34 การเมือง ร้อยละ 5.61 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 4.28 ภัยพิบัติ/โรคระบาด ร้อยละ 3.01 และปัจจัยอื่น ๆ ร้อยละ 1.02 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 3 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.3 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.1 และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.5 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นคือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง มาตรการของภาครัฐ และเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคใต้และภาคกลางอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ระดับ 49.1 และ 48.7 ตามลำดับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 5 อาชีพ ได้แก่ พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.0 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 53.4 นักศึกษา อยู่ที่ระดับ 52.8 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 51.0 และพนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.8 ยกเว้น อาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 49.5 และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 45.6 สำหรับ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 42.3
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 5 อาชีพ ได้แก่ พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.0 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 53.4 นักศึกษา อยู่ที่ระดับ 52.8 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 51.0 และพนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.8 ยกเว้น อาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 49.5 และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 45.6 สำหรับ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 42.3
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปี 2567 อยู่ในช่วงเชื่อมั่นเกือบตลอดทั้งปี จากปัจจัยหลักที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมถึงมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ เช่น การปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่นเล็กน้อย เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ภาระค่าครองชีพและภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาอุทกภัยซึ่งสร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตว่ามีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น โดยมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะต่อไป