นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 5,686 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 51.5 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนว่าประชาชนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคของประชาชนและลดค่าครองชีพ ประกอบกับมีการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกไทยในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ความกังวลของประชาชนต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ และนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของภาคการผลิตและการจ้างงาน อาจเป็นปัจจัยทอนที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2568 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นหรือมีค่ามากกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 51.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นเนื่องจาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และที่จะทยอยประกาศใช้ อาทิ มอบเงิน 1 หมื่นบาทสำหรับผู้สูงอายุ ช้อปลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt 2.0) และลดค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น (2) ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน หรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจบริการ และ (3) ภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีในหลายตลาดส่งออกสำคัญ
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.43 รองลงมา คือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.34 สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 8.48 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 7.56 เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 6.95 การเมือง คิดเป็นร้อยละ 5.33 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 4.24 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 3.04 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 1.63 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 2 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.9 และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.7 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และสังคม/ความมั่นคง ขณะที่ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 49.7 และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 49.4 แม้ดัชนีจะต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับภาคเหนือ ดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายอาชีพ จำนวน 7 อาชีพ พบว่า ดัชนีอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 5 อาชีพ ได้แก่ พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.7 นักศึกษา อยู่ที่ระดับ 53.5 ผู้ประกอบการ อยู่ที่ระดับ 52.9 เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 51.5 และพนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.1 ยกเว้น อาชีพรับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 49.3 และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 49.1 อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนธันวาคม 2567 โดยคาดว่าเป็นผลจากการที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินหมื่นจากโครงการของรัฐบาลในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนกลุ่มนี้ สำหรับ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่น โดยอยู่ที่ระดับ 44.2
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตว่ามีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจส่งผลและช่วยให้การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการดึงดูดการท่องเที่ยว มาตรการขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกอาจเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความกังวลและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างทันท่วงทีและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดความกังวลและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป