ดาวน์โหลดข้อมูลฉบับเต็ม:
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเล็งเห็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบของไทย กำลังเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว สนค. ยังมองเห็นทิศทางเพื่อภาคเอกชนและภาครัฐต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาฐานการผลิต หาโอกาสจากความท้าทาย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบของไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี โดยในปี 2567 การส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง1 มีมูลค่า 35,353.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.76 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปตลาดโลก แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะในยุคที่ความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำตลาด (Product Champion) สู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทยและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก
เพื่อให้ไทยยังคงรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อไปได้ จึงควรต้องมีการวางกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น ขณะที่รักษารากฐานให้มั่นคง โดยเร่งสนับสนุนจุดเด่นของไทย อาทิ การรักษาความสามารถในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่สำคัญของโลก การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตและปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศ GCC และออสเตรเลีย การปรับตัวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยได้ออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น มาตรการ EV 3.5 ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านการอุดหนุน การลดอัตราภาษีขาเข้า และการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบบครบวงจร อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยสามารถปรับตัวไปสู่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการส่งกำลัง และมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก
ผอ. สนค. กล่าวเสริมว่า ไทยยังควรต้องมองหาโอกาสในการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เป็นแนวโน้มของอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)2” ทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ในตลาดมีแนวโน้มเติบโตสูง ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนสามารถขยายตลาดไปสู่การผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีความแม่นยำในการผลิตเช่นเดียวกับชิ้นส่วนรถยนต์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่เป็น New S-Curve ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเครื่องบินทั่วโลก และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถปรับใช้ความชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนที่มีความละเอียดและคุณภาพสูง เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์และระบบต่าง ๆ ของเครื่องบินได้
ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาครัฐและภาคเอกชนมีความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบไทย มั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถปรับตัวและเติบโตได้ต่อไป โดยการขยายโอกาสไปยังตลาดใหม่ ๆ และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
1 สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิดเครื่องยนต์และส่วนประกอบ
2 สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์